ก่อนปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอมือถือเป็นเวลานานๆ เด็กอาจจะนิ่ง ไม่ซุกซนได้จริง แต่จะขาดพัฒนาการอย่างสิ้นเชิง เพราะภาพและเสียงที่จับต้องไม่ได้ในจอแบน 2 มิติ ไม่มีขนาด ไม่รู้ตำแหน่งที่มา ไม่ต่อเนื่อง กระโดดข้ามเวลา เชื่อมโยงกลับมาสู่ประสบการณ์จริงไม่ได้ เด็กๆ จึงสับสน ทักษะในการเรียนรู้จึงบกพร่อง พัฒนาการของเซลล์สมองจึงชะงักงัน

เช่นเดียวกับน้องมิวสิคที่มีพฤติกรรมที่แตกต่างจากเพื่อนร่วมวัย ขณะที่เพื่อนๆ ร่วมกิจกรรมกลุ่มที่ครูจัดให้ น้องมิวสิคมักจะแยกตัวออกมาเดินสำรวจไปรอบๆ แบบไร้จุดหมาย หรือซุกหลบอยู่ในมุมประจำที่จำกัด ไม่พูดคุย ไม่สบตา ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง นี่คือ อาการที่บ่งบอกถึงโรคสมาธิสั้น หรือออทิสติกเทียม...

ในฐานะสมาชิกภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาทักษะสมอง EF ในเด็กปฐมวัย ให้กับครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดห้วยโป่ง คณะครูได้นำความรู้เรื่อง EF มาปรับใช้ สร้างสรรค์กิจกรรมดี ๆ เข้าสู่ชั้นเรียน มุ่งพัฒนาทักษะสมอง EF ของเด็ก ๆ รวมถึงน้องมิวสิคด้วย คุณครูยังให้ความรู้และคำแนะนำกับคุณแม่ของน้องมิวสิค เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน

คณะครูได้มีการจัดสภาพแวดล้อมและกิจกรรมที่ให้อิสระ เด็กได้ทำในสิ่งที่ชอบ สนุก ทำให้เด็กได้จดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ช่วยเพิ่มช่วงความสนใจของเด็กให้ยาวขึ้น และลดภาวะสมาธิสั้น ความมหัศจรรย์ของสมอง ในการกำกับและควบคุมตนเอง หรือทักษะสมอง EF เป็นศักยภาพของเด็ก ๆ ที่เกิดขึ้นได้สูงสุด ในช่วงปฐมวัย ที่ผู้ใหญ่สามารถสร้างเสริมได้ ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมและกิจกรรมที่เหมาะสม เพียง 6 เดือนผ่านไป พฤติกรรมการเรียนรู้ของน้องมิวสิคก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เนื้อหาใกล้เคียง