เรื่องราวของน้องเค้ก เด็กน้อยวัย 7 ขวบที่เคยร่าเริงแจ่มใสในวัยก่อนเข้าเรียน ต้องตกอยู่ในภาวะเครียด มีอาการปวดหัว อาเจียน ไม่อยากทำ ไม่อยากเรียนรู้ ทั้งนี้เพราะความรัก ความห่วงใยของคุณยายที่กลายเป็นความเข้มงวดทั้งเรื่องการเรียนการบ้าน ถ้าเค้กทำผิดจะถูกทำโทษด้วยการเขียนหนังสือ ถ้าเขียนไม่สวยจะถูกทำโทษซ้ำโดยให้คัดลายมือใหม่ เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนน้องเค้กร้องขอให้พาตัวเองไปพบแพทย์

เมื่อย่าเปี๊ยก ซึ่งเป็น อาสาสมัครสาธารสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หมู่ 1 ต.ทับมา ได้ผ่านการอบรม EF ได้ใช้ความรู้ที่ได้บวกกับประสบการณ์ส่วนตัว สังเกตเห็นภาวะเครียดในตัวหลานสาว ที่มีคุณยายเป็นคนเลี้ยงดู จึงนำความรู้และหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติการทำงานของสมอง และแนวทางการพัฒนาทักษะสมอง EF ไปให้คุณยายลองอ่าน เข้าไปเยี่ยมหลานบ่อยขึ้น พูดคุยแลกเปลี่ยนกันอยู่บ่อยๆ คุณยายจึงค่อยๆปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ย่าเปี๊ยกยังชวนน้องเค้ก “เล่น” ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น หัดทำขนมเค้ก เก็บผักสวนครัว และปล่อยให้เล่นอิสระ รวมทั้งแนะนำให้ครอบครัวมอบหมายงานเล็กๆให้น้องเค้กรับผิดชอบ เช่น ล้างจาน กวาดห้องตนเอง เมื่อทำสำเร็จก็ชมเชยให้กำลังใจ ปัจจุบันน้องเค้กอาการดีขึ้น ร่าเริงแจ่มใสขึ้น ไม่มีอาการอาเจียนแล้ว

กลไกสำคัญของการดูแลสุขภาวะของผู้คนในชุมชน คือ บทบาทของ อสม. ที่เข้าถึงทุกบ้านด้วยหัวจิตหัวใจของเพื่อนบ้านที่เกื้อกูลห่วงใยกัน อสม. ที่เรียนรู้ EF คืออีกหนึ่งพลังชุมชนตัวจริงที่จะช่วยพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนได้เป็นอย่างดี การปฏิรูปการศึกษา ต้องเริ่มต้นที่การพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้เป็นรากฐานทุนมนุษย์ของประเทศชาติในอนาคตต่อไป

ตอนอื่นๆ

เนื้อหาใกล้เคียง