"โรงเรียน" สถานที่ที่เต็มไปด้วยผู้คนแปลกหน้า สภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นตา ไม่เหมือนบ้าน สมองเล็กๆ ของเด็กน้อยเริ่มทำงานรวนๆ ส่งผลให้เด็กรู้สึกหวั่นใจทุกครั้งที่ต้องมาโรงเรียน

โชคดีที่คุณครูของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลพญาเม็งราย มีกลยุทธ์ที่ใช้พิชิตใจเด็กที่ได้ผลเสมอ นั่นก็คือ "อ้อมกอดอุ่นๆ" ยามเช้า เพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กน้อยปฐมวัยสำหรับการเรียนรู้ในแต่ละวัน เด็กคนไหนร้องไห้มา คุณครูไม่เคยรีรอ รีบอุ้มพาเข้ามาในวงล้อม ให้เพื่อนๆ ช่วยกันกอดปลอบ เมื่อสัมผัสได้ถึงความเป็นมิตรจากรอบข้าง น้ำตาก็หยุดไหล นั่นเป็นเพราะหน้าที่เดียวของสมองคือการเอาชีวิตรอด ธรรมชาติจึงสร้างให้เรารู้สึกระแวดระวังภัย ซึ่งเป็นการทำงานของสมองส่วนสัญชาตญาณที่คอยกระตุ้นให้เราหลีกหนีจากสิ่งแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก เด็กน้อยจึงร้องไห้ เพื่อเรียกให้แม่พาหนีกลับ แต่ความอบอุ่นที่ได้จากอ้อมกอดซึ่งคุ้นเคยคล้ายกับอกแม่ กระตุ้นสมองส่วนกลางให้ส่งอารมณ์เชิงบวกบอกสมองส่วนหน้าให้สำรวจสังเกตดูไปรอบๆ ก่อน ไม่ต้องรีบหนี อยู่ต่อ เผชิญหน้า เพื่อสัมผัสประสบการณ์ใหม่ที่น่าสนใจใคร่รู้ เพราะการโอบกอด สื่อถึงความใกล้ชิดผูกพัน ประสาทรับสัมผัสภายนอกถูกกระตุ้นพร้อมๆ กันไปแทบทุกระบบสัญญาณประสาทที่ส่งต่อไปจึงปลุกสมองให้ตื่นโพลงกลายเป็นช่วงเวลาที่จะเรียนรู้จักตัวเองจากภาพสะท้อนของเพื่อนร่วมวัยที่อยู่รายรอบ สำหรับพี่คนโตห้องอนุบาล 1/2 ทุกเช้าจะมีกิจกรรมส่งเสริมความมั่นใจในตัวเอง ด้วยการพูดหน้าชั้นเรียงกันไปทีละคน มีคุณครูคอยกอดโอบเสริมแรงใจอยู่ข้างๆ จนพูดจบก็ได้รับรางวัลเป็นอ้อมกอดใหญ่ไปเต็มๆ

กอดอุ่นยามเช้า จึงเป็นกระบวนการส่งเสริมทักษะสมอง EF ที่ได้ผลยิ่ง เพราะบรรยากาศที่อบอุ่นปลอดภัย ไว้ใจได้เสมอ ทำให้สมองส่วนสัญชาตญาณและอารมณ์สงบ เบาใจ กอดจึงเป็นเหมือนของขวัญ เป็นแรงจูงใจเด็กๆ ให้มุ่งเดินไปสู่เป้าหมาย เมื่อผ่านงานท้าทายไปจนสำเร็จ นี่คือกระบวนการสร้างวงจร EF ขึ้นมาในสมอง พัฒนาศักยภาพในการคิด ลงมือทำ และควบคุมกำกับตนเองได้ดีขึ้นในทุกๆ วงรอบ การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ดีเมื่อสมองส่วนอารมณ์มีความสุข

ผลรวมจากการกอดที่คณะครูร่วมกันทำในทุกระดับ เด็กนักเรียนตัวน้อยๆ ก็วางใจ สมองส่วนหน้าตื่นตัว มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูจัดให้ไปตลอดทั้งวัน เมื่อเด็กๆ เรียนรู้ได้ดี รักการเรียนรู้ นั่นคือการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงได้เกิดขึ้นแล้ว

ตอนอื่นๆ

เนื้อหาใกล้เคียง