การเปลี่ยน Mindset และวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครู สามารถเปลี่ยนโลกที่เคยมืดมนของเด็กคนหนึ่ง ให้สว่างสดใสขึ้นได้ จากครูที่เปรียบตัวเองเหมือนฆาตกรที่เคยฆ่าเด็กด้วยคำพูดและการกระทำ เมื่อได้รับความรู้ EF จากการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ส่งเสริม EF ต้นแบบ อ.พญาเม็งราย จ. เชียงราย ทำให้ครูตวงพร ครูประจำชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนบ้านกระแล ปรับเปลี่ยนตัวเองครั้งใหญ่ เปลี่ยนพฤติกรรมและคำพูด ไม่ดุ ไม่ห้าม ไม่ตี ไม่เปรียบเทียบ มาให้ความรักกับเด็กด้วยการกอด ฟัง ชื่นชมและตั้งคำถามชวนเด็กคิดให้มากขึ้นแทน เป็นการเสริมแรงเชิงบวกและสร้างความผูกพันไว้ใจ นำสู่ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

ส่งผลให้ ชนพัฒน์ เด็กชายที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นก้าวร้าว ทำร้ายร่างกายเพื่อนๆ อยากได้อะไรก็ใช้กำลังแย่งเอาของเพื่อนไป ไม่ยอมพูดคุยหรือสบตาครูและไม่เคยยิ้ม เปลี่ยนไป กลายเป็นเด็ก มีเหตุผล สามารถควบคุมอารมณ์ อยู่ท่ามกลางเพื่อนๆได้อย่างมีความสุขมากขึ้น เพราะการดูแลของคุณครูที่นำเอาทักษะ EF มาใช้พัฒนาเด็กๆ ทำให้เด็กเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่ควร อะไรไม่ควร ที่สำคัญเมื่อครูรู้ว่าทุกข์ใหญ่ของชนพัฒน์คือการสูญเสียแม่ไปในปีที่ผ่านมา อ้อมกอดด้วยความรักความเมตตาของคุณครูและของเพื่อนในชั้นเรียน คือพลังที่สามารถเยียวยาคราบน้ำตาให้เปลี่ยนเป็นรอยยิ้มได้ การศึกษาที่แท้มิใช่การป้อนข้อมูลความรู้ให้แก่เด็ก หากแต่เป็นการให้โอกาสเด็กได้พัฒนาตัวตนทั้งด้าน ความคิด ความรู้สึก ความรู้ และทักษะความสามารถให้แข็งแรงในทุกด้าน เพื่อเผชิญโลกในวันข้างหน้า

ครูที่มีคุณภาพ เข้าใจ EF จะสามารถตอบโจทย์ระบบการศึกษา และสร้างตัวตนคุณภาพของเด็กได้ เด็กที่มีตัวตนดีและมีทักษะสมอง EF ดีจะไม่สร้างปัญหาให้ตนเองและสังคม

ตอนอื่นๆ

เนื้อหาใกล้เคียง